กลุ่มงานวินัยและนิติการเป็นหน่วยงานให้บริการด้านกฎหมาย ซึ่งแรกเริ่มจัดตั้งในฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของ“แผนกการเจ้าหน้าที่”กองกลาง สำนักงานอธิการบดี เรียกว่า“งานวินัยและนิติการ”มีภาระหน้าที่ในการร่างและตรวจสอบระเบียบ/ข้อบังคับของสถาบัน ร่างและตรวจสอบสัญญาต่างๆ ที่สถาบันได้ทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอก ร่างหนังสือโต้ตอบข้อหารือหน่วยงานภายนอก/ภายในสถาบันให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ระเบียบ/ข้อบังคับของทางราชการ ติดต่อประสานงานและดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการเกี่ยวกับการออกจากราชการกรณีผิดสัญญาลาศึกษา ฝึกอบรม และชดใช้ทุน และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
ในปี พ.ศ.2531 สำนักงานอธิการบดีได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารโดยได้ดำเนินการแบ่งส่วนราชการใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อ “แผนกการเจ้าหน้าที่” เป็น “ฝ่ายการเจ้าหน้าที่” แต่ยังเป็นหน่วยงานภายในกองกลาง สำนักงานอธิการบดี โดยมีงานวินัยและนิติการเป็นหน่วยงานภายในของฝ่ายการเจ้าหน้าที่เช่นเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.2539 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้แยก“ฝ่ายการเจ้าหน้าที่”ออกจากกองกลาง และให้มีฐานะเป็นหน่วยงานภายในสังกัดสำนักงานอธิการบดี โดยมีรองอธิการบดีฝ่ายบริหารเป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแล และงานวินัยและนิติการยังเป็นหน่วยงานภายในของฝ่ายการเจ้าหน้าที่
เนื่องจากภาระงานด้านบริหารงานบุคคลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ยุ่งยากและซับซ้อน อีกทั้งกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติต่างๆ ที่มีผลใช้บังคับกับบุคลากรแต่ละประเภท มีทั้งที่สามารถใช้บังคับร่วมกันได้และที่ต้องแยกใช้เป็นการเฉพาะ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จึงเห็นสมควรปรับปรุงโครงสร้างของ“ฝ่ายการเจ้าหน้าที่”ที่มีบุคลากรจำนวนจำกัดให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีประกาศสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี ยกฐานะ “ฝ่ายการเจ้าหน้าที่”ให้เป็น“ส่วนการเจ้าหน้าที่”ที่เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากอง โดยงานวินัยและนิติการยังเป็นหน่วยงานภายในส่วนการเจ้าหน้าที่ และกำหนดภาระหน้าที่ให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้
งานวินัยและนิติการ
1.หน่วยวินัย
1.1 ดำเนินการทางวินัย
1.2 อุทธรณ์และร้องทุกข์
1.3 ดำเนินคดีกรณีข้าราชการผิดสัญญาลาศึกษา
1.4 ประสานงานเพื่อดำเนินคดีแพ่งและอาญา
1.5 ประสานงานเพื่อบังคับคดี
1.6 ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
2.หน่วยนิติการ
2.1 ร่างและพิจารณาตรวจร่างกฎหมาย กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ
2.2 พิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย
2.3 นิติกรรมสัญญา
ในปี พ.ศ.2550 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้มีโครงการวิเคราะห์ภาระหน้าที่และโครงสร้างของส่วนการเจ้าหน้าที่ และได้จัดแบ่งกลุ่มงานภายในส่วนการเจ้าหน้าที่ขึ้นใหม่ พร้อมกับแยก“งานวินัยและนิติการ”ออกจากส่วนการเจ้าหน้าที่ โดยมีประกาศสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๐ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี กำหนดให้กลุ่มงานวินัยและนิติการ เป็นส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร
ในปี พ.ศ.2551 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์มีนโยบายในการปรับเปลี่ยนการแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานอธิการบดีเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารงาน และความเชี่ยวชาญเฉพาะในการปฏิบัติงาน จึงได้กำหนดให้จัดตั้งกองงานผู้บริหาร เป็นส่วนราชการใหม่ในสำนักงานอธิการบดี โดยประกาศสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลงวันที่ 1 กันยายน 2551 เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในสำนักงานอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กำหนดให้“กลุ่มงานวินัยและนิติการ”เป็นกลุ่มงานภายในกองงานผู้บริหาร และได้ปฏิบัติงานมาจนถึงปัจจุบัน
วิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และ ภารกิจ
ปรัชญา
มุ่งมั่นให้บริการและปฏิบัติงานด้านกฎหมายเพื่อสนับสนุนภารกิจของสถาบันให้ดำเนินการโดยถูกต้องและชอบธรรม โดยยึดในหลักวิชาชีพนักกฎหมาย หลักธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์
วิสัยทัศน์
ให้บริการด้านกฏหมาย โปร่งใสทุกขั้นตอน ดำเนินงานอุทธรณ์และร้องทุกข์ ปลูกฝังความซื่อสัตย์ ส่งเสริมให้ปฏิบัติถูกวินัย เป็นกลไกการบริหารด้านคุณธรรม
พันธกิจ
1. เสนอความเห็นด้านกฎหมายเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บริหาร
2. ให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องในการดำเนินงานตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติต่างๆ ของทางราชการและสถาบัน
3. จัดทำและตรวจสอบร่างกฎหมาย ร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ ร่างประกาศ ร่างคำสั่ง และร่างสัญญา ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายและเอื้อประโยชน์ในการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดทำ
4. สร้างความเชื่อมั่นในความเป็นกลางและโปร่งใสในการดำเนินการทางวินัย อุทธรณ์และร้องทุกข์ และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยยึดถือความถูกต้องของขั้นตอนดำเนินงานและการคุ้มครองและรักษาสิทธิของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
5. ดำเนินคดีและประสานความร่วมมือกับเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อรักษาสิทธิและประโยชน์ของสถาบัน
6. เป็นแบบอย่างของหน่วยงานที่ยึดถือความซื่อสัตย์สุจริต การรักษาคุณธรรม จริยธรรมและเป็นเครือข่ายในการสร้างราชการใสสะอาด
วัตถุประสงค์
1. ให้บริการและคำแนะนำด้านกฎหมายด้วยความถูกต้องและรวดเร็ว
2. ดำเนินงานด้านระบบคุณธรรมด้วยความเป็นกลาง โปร่งใส ถูกต้อง ภายในระยะเวลาที่กำหนด
3. รักษาสิทธิและประโยชน์ของสถาบันในการดำเนินคดีต่างๆ
4. ส่งเสริมให้ระบบการบริหารงานของสถาบันมีความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้